น้ำท่วม : วิบากกรรมแห่งยุคสมัย วิบากกรรมอำพราง
Fri, 2011-10-14 17:48
จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ศูนย์รวมของทุกอย่างจะกระจายตัวไปตามภูมิภาค และการแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมอาจไม่จำเป็นต้องพะวงว่าจะกระทบกระเทือนต่อศูนย์รวมทุกสิ่งอย่างของประเทศ แม้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ กระนั้นก็อาจเป็นเรื่องที่ควรทำ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปี 2554 นี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจุดรับน้ำเนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่มากตามปรากฏการณ์ทางธรรมชาติระดับโลกอย่าง "ลา นิญญา" ซึ่งหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหนาสาหัสไม่ใช่ใครที่ไหน หากเป็นประเทศไทยของเราเอง
เมื่อต้นปีพบว่ามวลน้ำมหาศาลหลากไหลเข้าท่วมด้ามขวานถือเป็นวิกฤติการณ์หนึ่งที่ควรบรรจุไว้ในประวัติศาสตร์ภัยพิบัติในประเทศ ถัดมาแถบภาคเหนือในจังหวัดเล็กๆ ของผู้เขียนเองก็หลีกไม่พ้นที่จะถูกน้ำท่วมสูงในรอบห้าปีหลังจากน้ำท่วมใหญ่ปี 2549 หนำซ้ำหลายพื้นที่ยังเผชิญกับน้ำป่าไหลหลากซึ่งเกิดขึ้นอย่างถี่กระชั้น แม้แต่เชียงใหม่ก็ยังถูกกระแสน้ำลามเลียในตัวเมืองอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบสองทศวรรษที่ผู้เขียนมีชีวิตอยู่
ต่อความแปลกประหลาดของสถานการณ์ทางธรรมชาติเช่นนี้ ใช่หรือไม่ว่ามนุษย์ โดยเฉพาะ "มนุษย์ไทย" นั้นต้องตระหนักว่าสาเหตุของมันคืออะไร และทางหนีทีไล่ที่สมเหตุผล มีประโยชน์ เป็นธรรม คืออะไร
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมิได้คาดหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับใหญ่อย่างทันทีทันใด หากหวังเพียงว่า การเขียนครั้งนี้จะจุดประกายบางอย่างแก่ผู้อ่านในระดับย่อย เผื่อว่าจะกลายเป็นเจตจำนงร่วมในการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับชาติ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
หากไม่ถือเอาข่าวเรื่องการปล่อยน้ำเขื่อนอย่างผิดปกติเพราะเหตุผลทางการเมืองที่ว่อนว่ายโจมตีกันอยู่ในโลกอินเตอร์เน็ทมาเป็นสาระ สถานการณ์น้ำท่วมภาคกลางของประเทศในขณะนี้ ถือเป็น "วิบากกรรมแห่งยุคสมัย" ตามทัศนะส่วนตัวของผู้เขียนเอง
ทั้งนี้ "วิบากกรรม" ตามนิยามส่วนตัวหมายถึง ผลร้ายของการกระทำอันต่อเนื่อง ขณะที่ "ยุคสมัย" หมายถึง สภาพการณ์ของพื้นที่ ณ เวลาใดหนึ่งแล้วแต่จะนับคำนวณ
"วิบากกรรมแห่งยุคสมัย" จึงหมายถึง ผลร้ายที่เกิดขึ้นเนื่องจากสภาพการณ์ของประเทศไทยในยุคทุนนิยมเสรีครอบงำโลก อันเป็นผลสืบเนื่องจากพัฒนาการทางปัญญาในโลกตะวันตก ร่ายมาตั้งแต่ยุคสมัยแห่งความรู้แจ้งอันส่งผลให้การปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษก่อตัวขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 18 และส่งผลสะเทือนต่อการพัฒนาระบบการแข่งขันเสรีทางการค้า สืบมาสู่สมัยล่าอาณานิคมเพื่อระบายตลาดและแสวงวัตถุดิบในคริสต์ศตวรรษที่ 19 กระทั่งยุคโลกาภิวัตน์ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 และยุคปัจจุบันที่ผู้เขียนไม่อาจตั้งชื่อได้
ทุนนิยมเติบโตอยู่ในทุกซอกทุกมุมของชีวิต จนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้แม้กระทั่งผู้ที่พยายามหนีห่างจากมัน เสมือนหนึ่งคุกตะรางที่จองจำผู้คนไว้ ภายใต้กรอบกำหนดของความเป็นรัฐชาติ และกรอบกำหนดของความเป็นรัฐในระบบโลกที่มีกติการะหว่างชาติเป็นเครื่องมือ
สภาพเช่นนี้ส่งผลให้ประเทศเล็กๆ เช่นประเทศไทยนั้นจำต้องแขวนตัวเองอยู่กับระบบดังกล่าว แม้จะมีวาทกรรม "เศรษฐกิจพอเพียง" หลอกล่อใจให้รู้สึกว่าคนไทยใช้ชีวิตกลมกลืนกับวิถีธรรมชาติ แต่ก็ไม่อาจเป็นความจริงขึ้นมาได้
หลายปีมานี้พื้นที่เกษตรกรรมอาหารในภาคเหนือและอีสานถูกแปรสภาพเป็นพื้นที่เกษตรกรรมอุตสาหกรรม กล่าวคือ เป็นการผลิตพืชผลทางการเกษตรเพื่อสนองการผลิตในระบบอุตสาหกรรม ซึ่งโดยมากอุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นไปเพื่อการผลิตสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร เช่น การปลูกยางพาราเพื่อผลิตยางรถยนต์ การปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน เป็นต้น เหตุผลที่ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชชนิดดังกล่าวนั้นเนื่องจากหวังผลทางเศรษฐกิจ ซึ่งผันตามระบบทุนนิยมนั่นเอง
กล่าวก็คือ หากเกษตรกรไม่มีทรัพย์สิน ก็ไม่อาจอยู่อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ในปัจจัยหลากหลายมิติได้ เช่น การเข้าถึงการศึกษาของบุตร การเข้าถึงการรักษาพยาบาล ตลอดจนการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานตามแบบฉบับของโลกในยุคปัจจุบัน นอกจากนั้นแล้ว ผู้บุกเบิกพื้นที่ทางการเกษตรอาจเป็นนายทุนเสียเองที่กว้านซื้อพื้นที่จากชาวบ้านเพื่อการลงทุนระยะยาว
ทั้งนี้ไม่นับรวมถึงการท่องเที่ยวที่ส่งผลต่อความเติบโตของความเป็นเมือง ภาวะเช่นนี้นำไปสู่ความเสียสมดุลทางธรรมชาติอย่างใหญ่หลวง นอกจากนั้นแล้วอาจส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ประเด็นของผู้เขียนยังคงอยู่ในเรื่องของ "น้ำท่วม" น้ำท่วมไม่เพียงแต่เกิดจากปริมาณน้ำฝนที่มากตามปรากฏการณ์ลานิญญา หากยังเป็นเกิดจากภาวะสมดุลที่ผันผวนเนื่องจากการก่อกวนธรรมชาติภายในประเทศด้วย
ทั้งนี้ เรื่องของการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำก็เป็นสิ่งที่น่ากลัวไม่แพ้กัน แม้จะมีเหตุผลนับประการที่หลายคนมองว่าดี เช่น เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือเพื่อจัดสรรสู่พื้นที่แห้งแล้ง ถึงอย่างไรก็ต้องแลกกับการถากถางทำลายผืนป่า จะว่าไปแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่หมุนเวียนอยู่บนแผ่นดินไทยขณะนี้ ล้วนเป็นสิ่งที่กระหน่ำซ้ำเติมสถานการณ์ความแปรปรวนทางธรรมชาติอย่างไม่อาจบรรยายได้
เรื่องของเรื่องก็คือ ผู้เขียนเชื่ออย่างสนิทใจว่า โลกได้ดูดกลืนประเทศไทยเข้าสู่ระบบทุนนิยมอย่างไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะถอนตัวอย่างไร
แม้แต่ตัวผู้เขียนเองยังใช้ชีวิตอยู่ในระบบดังกล่าวอย่างไม่รู้ว่าจะขาดมันได้อย่างไร
น้ำท่วมจึงเป็น "วิบากกรรมแห่งยุคสมัย" ที่คนไทยต้องร่วมกันเผชิญ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม กระแสน้ำไหลที่ผิดปกติในขณะนี้อันเกิดจากการจัดการน้ำของกรมชลประทานเพื่อรักษาศูนย์รวมของระบบทุนนิยมภายในประเทศอย่างกรุงเทพมหานครนั้น ถือเป็น "วิบากกรรมอำพราง" ที่ชาวต่างจังหวัดในภาคกลางต้องเผชิญโดยลำพัง
แม้จะมีหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน ตลอดจนผู้คนที่มีจิตอาสาเคียงข้างคอยช่วยเหลือ แต่ก็นั่นแหละ สิ่งเหล่านั้นอาจไม่ควรเกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย
เมืองนครสวรรค์จำต้องจมบาดาลอยู่อย่างน้อยสองเดือน เมืองอยุธยาน้ำท่วมสูงเป็นประวัติการณ์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน สิ่งเหล่านี้เป็น "วิบากกรรมอำพราง" ที่พวกเขาตกเป็นผู้รองรับ
ทั้งที่กรุงเทพมหานครคือจุดศูนย์กลางของสาเหตุของน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ แต่กลับไม่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม เป็นตรรกะที่สอดคล้องกับแนวคิดคู่สังคมไทยมาช้านานว่า ผู้คนไม่ควรรู้จักรับผลเท่าการกระทำ หากต้องให้รู้จักแต่รับผลมากกว่าการกระทำ
ตัวอย่างเช่น การทำงานน้อยแต่ค่าตอบแทนมากของผู้คนบางกลุ่ม ซึ่งตรรกะนี้ใช้ได้กับเรื่องน้ำท่วม คนกรุงเทพมีส่วนในการใช้สอยซึ่งมีค่าเท่ากับทำลายมากกว่าคนต่างจังหวัดแต่แทบไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เลย สมแล้วที่เป็นวิบากกรรมอำพรางแห่งยุคสมัย...
ขณะที่การถากถางทำลายธรรมชาติเป็นไปเพื่อสนองนายทุน วิบากกรรมกลับตกต่อผู้คนที่อาจไม่ได้ผลประโยชน์จากการถากถางทำลายนั้น
ต่อประเด็นเรื่องการจัดการน้ำขณะนี้ หลายเสียงกระซิบกระซาบมาว่า คนต่างจังหวัดจำนวนหนึ่งต้องการที่จะรักษาเมืองหลวงไว้ ถึงอย่างไรก็ยังเป็นเรื่องที่มีสภาพสองแพร่งในตัวมันเอง กล่าวก็คือ ด้านหนึ่ง กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์รวมของความช่วยเหลือจริง ขณะที่อีกด้าน กลับกลายเป็นคำถามที่ว่า เหตุใดความช่วยเหลือจึงต้องรวมศูนย์อยู่เฉพาะที่กรุงเทพมหานคร
จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ศูนย์รวมของทุกอย่างจะกระจายตัวไปตามภูมิภาค และการแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมอาจไม่จำเป็นต้องพะวงว่าจะกระทบกระเทือนต่อศูนย์รวมทุกสิ่งอย่างของประเทศ แม้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ กระนั้นก็อาจเป็นเรื่องที่ควรทำ
เมื่อถึงเวลานั้น อาจเป็นไปได้ว่า น้ำท่วมจะไม่ใช่วิบากกรรมอำพรางอีกต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น