ยักษ์รับเหมาตีปีก รับงานกู้นิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง ที่อยุธยา-ปทุมธานี 1 เดือนเสร็จ
ยักษ์รับเหมาตีปีกรับบิ๊กโปรเจ็กต์ กู้นิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง ย่านอยุธยา-ปทุมธานี ผู้ประกอบการต่อสายตรงให้เร่งฟื้นฟูด่วนหลังน้ำท่วมร่วมเดือน "อิตาเลียนไทย" ได้งาน "นวนคร-โรจนะ" ฟาก "ช.การช่าง" กู้นิคมอุตฯ "บางปะอิน" ด้าน "ซิโน-ไทยฯ" คว้า "บางกะดี-บ้านหว้า" เผยแผนเร่งด่วนสูบน้ำให้หมดภายใน 1 เดือน เร่งปรับปรุงสาธารณูปโภค ส่วนมาตรการระยะยาว เตรียมสร้างแนวป้องกันคอนกรีตถาวรผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่รัฐบาลได้มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เร่งกู้และฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่ง ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี ที่ถูกน้ำท่วมและได้รับความเสียหายอย่างหนักตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร, บ้านหว้า (ไฮเทค), บางปะอิน, โรจนะ, แฟคตอรี่แลนด์, บางกะดี และนวนคร กลับเข้าสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด ล่าสุดบริษัทรับเหมารายใหญ่หลายรายได้รับการติดต่อจากผู้ประกอบการนิคมหลายแห่งให้เข้าไปเสนอแผนการฟื้นฟูแล้ว ทั้งแผนเร่งด่วนดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 1 เดือน และมาตรการป้องกันน้ำท่วมในระยะยาว ซึ่งถือเป็นงานใหญ่งานแรกของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างหลังเกิดวิกฤตน้ำท่วม ขณะเดียวกันมีการประเมินกันว่าหลังน้ำลด บริษัทรับเหมาจะได้รับอานิสงส์จากการฟื้นฟูภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ประสบปัญหาน้ำท่วมจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นงานบูรณะถนน โรงงาน เขื่อน และโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐบาลมีแผนลงทุนเพื่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมในระยะยาว มูลค่าหลายแสนล้านบาท ITD กู้ "นวนคร-โรจนะ" นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อป เมนต์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ได้เข้าไปเสนอแผนฟื้นฟูให้ผู้ประกอบการนิคมนวนครพิจารณาแล้ว โดยแผนงานที่เสนอไปมี 2 ระยะ คือ 1) ระยะเร่งด่วน จะดำเนินการทันทีหลังจากระดับน้ำลดลงในระดับเท่ากับแนวคันกั้นน้ำเดิมที่นิคมสร้างไว้ โดยจะใช้เครื่องปั๊มน้ำจำนวน 20 ตัว สูบน้ำที่ท่วมขังออกโดยเร็ว จากนั้นจะซ่อมแซม คันกั้นน้ำเดิมที่เป็นคันดินให้ใช้การได้ชั่วคราว คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน 2) ระยะยาว จะสร้างคันกั้นน้ำถาวรรอบนิคม ระยะทางรวม 19 กิโลเมตร โดยจะเปลี่ยนจากคันดินเป็นคอนกรีต และเพิ่มระดับความสูงจากเดิม 4-5 เมตร เป็น 6.50 เมตร รวมทั้งฝังเสาเข็มให้ลึกจากผิวดินลงไปอีก 10 เมตร เพื่อให้สามารถต้านแรงน้ำได้มากขึ้น นอกจากที่นวนครแล้วจะเข้าไปเสนอแผนฟื้นฟูนิคมอื่น ๆ ด้วย ขณะที่นายพลพัฒ กรรณสูต กรรมการผู้จัดการ บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ เปิดเผยว่า บริษัทได้ร่วมกับบมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) และบริษัท อิตาเลียนไทยฯ เข้าไปรับงานฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ล่าสุด อยู่ระหว่างจัดทำแผนงานเสนอให้ผู้ประกอบการนิคมดังกล่าวพิจารณา โดยแผนฟื้นฟูเร่งด่วนจะเป็นเรื่องของการเข้าไปสูบน้ำออกจากนิคมให้เร็วที่สุด หลังจากที่ระดับน้ำเริ่มลดลง โดยจะใช้เครื่องสูบน้ำจำนวน 100 เครื่อง คาดว่าจะใช้เวลาสูบน้ำออกได้หมดภายใน 1 เดือน จากนั้นจะเข้าไปปรับปรุงระบบต่าง ๆ เช่น ซ่อมคันกั้นน้ำเดิม ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่ได้รับความเสียหาย เนื่องจากขณะนี้น้ำยังไม่ลด จึงยังไม่สามารถระบุแผนที่จะเป็นมาตรการถาวรได้ว่าจะต้องบูรณาการอะไรบ้าง ช.การช่างฟื้น "บางปะอิน" นายอนุกุล ตันติมาสน์ กรรมการและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานทรัพยากรมนุษย์และบริหารทั่วไป บมจ.ช.การช่าง เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างทำรายละเอียดการฟื้นฟูเสนอให้นิคมอุตสาหกรรมบางปะอินพิจารณาเช่นเดียวกัน เบื้องต้นต้องเข้าไปสำรวจก่อนว่าจะเข้าไปฟื้นฟูพื้นที่ส่วนใดบ้าง ซึ่งจะดำเนินการได้หลังจากที่น้ำลดลงมาในระดับที่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ จากปัจจุบันที่ระดับน้ำยังสูงอยู่จึงไม่สามารถให้รายละเอียดอะไรได้มาก "ตามที่วางแผนไว้จะเร่งสูบน้ำออกจากนิคมให้เร็วที่สุด เพื่อให้สามารถเข้าไปฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภคภายในหลังน้ำลด เช่น ถนน ระบบไฟฟ้า ประปา" ซิโน-ไทยเคลียร์ "บางกะดี-ไฮเทค" ด้านนายวรัช กุศลมโนมัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการส่วนงานปฏิบัติการ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น เปิดเผยว่า บริษัทได้รับการติดต่อจากผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมบางกะดี และบ้านหว้า (ไฮเทค) เพื่อให้เข้าไปฟื้นฟูให้ ซึ่ง จะเข้าไปดำเนินการหลังระดับน้ำเริ่มลดลงกว่านี้ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้กลางเดือนพฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป เนื่องจากผู้ประกอบการต้องการให้เข้าไปกอบกู้นิคมโดยเร็ว เพื่อที่จะได้กลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้ง "ทั้ง 2 นิคมจะใช้วิธีเดียวกัน คือเร่งเคลียร์พื้นที่และระบบต่าง ๆ ที่เสียหายทั้งหมดให้ใช้งานได้ชั่วคราว ก่อนจะวางมาตรป้องกันในระยะยาวต่อไป เพราะตอนนี้น้ำยังไม่ลด ยังไม่รู้ว่ามีอะไร เสียหายบ้าง งานด่วนคือจะเร่งสูบ น้ำออกโดยเร็วที่สุด คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 10-20 วัน จากนั้นจะซ่อมถนน แนวคันกั้นน้ำเดิม ระบบไฟฟ้า ประปา ให้ใช้งานได้" นายวรัชกล่าว |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น