นนทพร อยู่มั่งมี
สมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นยุคที่ไทยมีความสัมพันธ์กับจีนโดดเด่นยุคหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ สะท้อนจากอิทธิพลด้านต่างๆ ของชาวจีนในไทยทั้งด้านทางการเมือง เศรษฐกิจ และงานศิลปะ จนประหนึ่งว่าเป็นความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและสวยงาม แต่กระนั้นบางเหตุการณ์กลับสะท้อนรูปแบบความสัมพันธ์อย่างตรงกันข้ามด้วยปฏิบัติการอันรุนแรงระหว่างกัน ทั้งนี้เป็นไปตามเงื่อนไขบริบทของเหตุการณ์แห่งยุคสมัยโดยเฉพาะกรณี จีนตั้วเหี่ยเมืองฉะเชิงเทรา หรือการจลาจลของชาวจีนเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๑ ซึ่งนำไปสู่การปราบปรามขั้นเด็ดขาดจากภาครัฐ และยังแสดงถึงปฏิกิริยาของชาวสยามที่มีต่อชาวจีนซึ่งกำลังรุ่งเรืองภายใต้เศรษฐกิจเพื่อการส่งออกในขณะนั้น
ชาวจีน : จักรกลทางเศรษฐกิจของรัฐ
รัฐบาลสมัยต้นรัตนโกสินทร์ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจเน้นเศรษฐกิจเพื่อการส่งออก และส่งเสริมการค้ากับต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากบ้านเมืองเริ่มฟื้นตัวจากการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา โดยมีเจ้านาย ขุนนาง และ เจ๊สัวราษฎรผู้มีทรัพย์ เข้าร่วมกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างคับคั่ง แตกต่างจากยุคกรุงศรีอยุธยาที่รัฐมุ่งทำกำไรจากสินค้าหลากหลายชนิดจากดินแดนต่างๆ ที่ส่งผ่านกรุงศรีอยุธยา และเป็นการผูกขาดอยู่กับการค้าสำเภาของหลวงเป็นหลัก ความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบทางการค้ามีผลต่อชนิดของสินค้าที่เน้นสินค้าที่ผ่านกระบวนการผลิตมากขึ้น เช่น ข้าวและน้ำตาล เพื่อรองรับความต้องการของตลาดโลกอย่างมาก ขณะที่ยุคก่อนหน้านี้สินค้ายังคงเน้นผลผลิตที่ไม่ต้องแปรรูปมากมายจำพวกของป่าเป็นสำคัญ (๑)
ภายใต้เศรษฐกิจเพื่อการส่งออกรัฐต้องการแรงงานจำนวนมากเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อป้อนตลาดโลก ขณะเดียวกันรัฐยังต้องการแรงงานสำหรับพัฒนาการสาธารณูปโภค เช่น ขุดคลอง ไปจนถึงการก่อสร้างอาคารสถานที่ต่างๆ แต่รัฐก็ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานทั้งจากการสูญเสียจากสงครามที่มีอย่างต่อเนื่อง โรคระบาด ภัยธรรมชาติ และการเบียดบังไพร่พลของบรรดามูลนาย(๒) หรือแม้แต่ตัวของระบบไพร่เองก็เป็นสิ่งพันธนาการไพร่ไว้กับมูลนาย จนยากที่ไพร่จะไปประกอบอาชีพอิสระได้เต็มที่ ดังนั้นนโยบายของรัฐบาลต้นรัตนโกสินทร์จึงมีทั้งการผ่อนคลายการเกณฑ์แรงงาน ลดเวลาเข้าเวรรับราชการของไพร่ และใช้แรงงานรับจ้างมากขึ้น ซึ่งเริ่มปรากฏในรัชกาลที่ ๒ (๓) ซึ่งแรงงานที่สำคัญสมัยนี้ได้แก่แรงงานชาวจีน
การหลั่งไหลของแรงงานชาวจีนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการ ทั้งจากปัญหาความไม่สงบทางการเมืองของราชวงศ์ชิง และการลุกฮือขึ้นต่อต้านของประชาชน เช่น กรณีกบฏไต้เผง (พ.ศ. ๒๓๙๑-๒๔๐๘) ทางการจีนได้ปราบปรามราษฎรอย่างรุนแรง ขณะที่จีนต้องประสบปัญหาความอดอยากในประเทศ รวมทั้งภัยจากการรุกรานของชาติตะวันตก เป็นผลให้จีนต้องเปิดเมืองท่า ๔ เมือง ได้แก่ เอ้หมึง ฝูโจว หนิงโป และเซี่ยงไฮ้ ตามสนธิสัญญานานกิงเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๕ (หลังจากนั้นต้องเปิดเมืองท่าทั้งหมดตามสนธิสัญญาเทียนสิน พ.ศ. ๒๔๐๓) ขณะเดียวกันชาวตะวันตกยังนำวิทยาการด้านการขนส่งทางทะเลด้วยเรือกลไฟ ปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อการอพยพของชาวจีนไปยังดินแดนต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย (๔)
ชาวจีนที่หลั่งไหลเข้ามาในสมัยรัตนโกสินทร์มีแนวโน้มมากขึ้น เช่นที่
จอห์น ครอว์เฟิด ซึ่งเดินทางเข้ามาสมัยรัชกาลที่ ๒ กล่าวว่า เรือสำเภาที่บรรทุกสินค้าไปขายจะบรรทุกคนจีนเข้ามาถึงลำละ ๑,๒๐๐ คน (๕ ) หรือในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีคนจีนอพยพเข้ามายังกรุงเทพฯ ถึงปีละ ๑๕,๐๐๐ คน จากนั้นจึงกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ (๖)
รัฐบาลยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ต้องการแรงงานชาวจีนจำนวนมากเพื่อใช้ในการก่อสร้าง เช่น การขุดคลองตั้งแต่หัวหมากไปถึงบางขนาก เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๐ หรือคลองแสนแสบในเวลาต่อมา (๗) รวมไปถึงถาวรวัตถุต่างๆ ทั้งปราสาทราชวังและวัดวาอาราม ทั้งนี้เป็นเพราะชาวจีนผู้อพยพส่วนหนึ่งเป็นช่างฝีมือหรือไม่ก็เป็นผู้ชำนาญการในศาสตร์แขนงต่างๆ เช่น กลุ่มช่างฝีมือชาวจีนแคะมาจากตำบลถงอัน มณฑลฝูเจี้ยน ซึ่งอพยพเข้ามาในรัชกาลที่ ๓ (๘) บรรดาผู้ชำนาญการหลากหลายประเภทล้วนเป็นที่ต้องการของทางราชการ อาทิ ช่างก่ออิฐ ช่างทำอิฐ (๙) ช่างต่อเรือ ช่างไม้ การเดินเรือ และทำน้ำตาล (๑๐)
บรรดาชาวจีนในเมืองไทยส่วนหนึ่งเข้าสู่ระบบราชการไทยด้วยการเป็นข้าราชการมีบรรดาศักดิ์ เช่น เจ้าภาษีนายอากร มีอำนาจเต็มที่ในการเรียกเก็บภาษีจากราษฎรตามประเภทในเขตซึ่งตนประมูลได้ (๑๑) คนจีนในกลุ่มนี้ พยายามปรับตัวเข้าหาชาวสยามŽ ดังนั้นชาวจีนดังกล่าวจึงพร้อมที่จะสละอัตลักษณ์ของตนอย่างการตัดเปียบุตรชาย และให้บุตรชายบวชพระ พร้อมกับปฏิบัติพิธีกรรมตามอย่างคนไทย ผลก็คือ ชาวจีนซึ่งเคยยึดมั่นอยู่ในขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติตนก็ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองมาเป็นชาวสยามโดยสิ้นเชิง (๑๒)
ขณะที่ชาวจีนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นจักรกลที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจเพื่อการส่งออก บทบาทที่โดดเด่นของชาวจีนในทางเศรษฐกิจสะท้อนจากบันทึกของ นาย ดี.อี. มัลลอค (D.E. Malloch) พ่อค้าชาวอังกฤษ สมัยรัชกาลที่ ๔ สำหรับสยามเองคงไม่เจริญก้าวหน้ามาได้อย่างทุกวันนี้หากปราศจากชาวจีนในประเทศ (๑๓) และด้วยคุณลักษณะของชาวจีนที่เป็น ชนชาติที่ขยันขันแข็ง เงียบขรึม และสู้งานหนักประกอบกับ ชาวจีนนั้นหมกมุ่นแต่ในเรื่องธุรกิจของตนและวิธีหาเลี้ยงครอบครัว ชอบคิดแต่ในเรื่องการต่อสู้หรือแสวงหาอาชีพอื่นๆ (๑๔) ดังนั้นจึงพบชาวจีนมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจเพื่อการส่งออกมาตั้งแต่ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์
การผลิตเพื่อการส่งออกล้วนแต่มีชาวจีนเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นส่วนใหญ่ เช่น การปลูกอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล ซึ่งคนจีนเป็นผู้นำพันธุ์อ้อยเข้ามาพร้อมทั้งความเชี่ยวชาญการทำน้ำตาลจากพืชชนิดนี้ จนทำให้กิจการดังกล่าวมีคนจีนเป็นเจ้าของกิจการและแรงงานจำนวนมาก นอกจากนี้คนจีนยังปลูกพริกไทยและยาสูบในระดับส่งออกเช่นกัน ไม่เพียงเท่านั้น กิจการเหมืองแร่ดีบุกทางภาคใต้ล้วนแต่ใช้แรงงานและดำเนินการด้วยชาวจีน รวมไปถึงอุตสาหกรรมต่อเรือสำเภา ซึ่งสัมพันธ์กับการค้าต่างประเทศโดยตรงอีกด้วย (๑๕)
บทบาทของชาวจีนในช่วงเวลาดังกล่าวยังทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมโยงการค้าภายในด้วยการเป็นพ่อค้านำสินค้าจากต่างประเทศเข้าไปจำหน่ายหรือแลกเปลี่ยนกับผลผลิตของท้องถิ่นกับบรรดาราษฎร ขณะเดียวกันก็นำสินค้าจากเมืองจีน เช่น ชา พัด ร่มกระดาษ ธูป เข้าไปยังผู้บริโภคชาวจีนเช่นกัน (๑๖)
รัฐบาลยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้รับประโยชน์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชาวจีนอย่างมหาศาล ทั้งในรูปของภาษีอากรจากบรรดาแรงงานชาวจีนซึ่งจ่ายเป็นตัวเงินเรียก ผูกปี้ แทนการเกณฑ์แรงงานตามระบบไพร่ของไทย ขณะที่รัฐยังได้ภาษีจากแรงงานในรูปของภาษีฝิ่น ซึ่งแรงงานชาวจีนนิยมสูบมาก อีกทั้งรัฐอาศัยชาวจีนในการประมูลผูกขาดภาษีหรือเจ้าภาษีนายอากร เพื่อรวบรวมรายได้เป็นตัวเงินคืนสู่รัฐ (๑๗) สำหรับสินค้าการเกษตรก็มีการเก็บภาษีจำนวนมากจากการปลูกอ้อยและยาสูบ (๑๘)
นับได้ว่าชาวจีนมีบทบาทสำคัญในการเป็นจักรกลขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อการส่งออกให้ดำเนินไปในทิศทางที่ก่อประโยชน์แก่รัฐบาลยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์อย่างอเนกอนันต์ แต่กระนั้นรัฐบาลก็ประสบปัญหาการควบคุมความสงบเรียบร้อยของชาวจีน โดยเฉพาะกรณีจีนตั้วเหี่ย ซึ่งมีอย่างต่อเนื่องในสมัยรัชกาลที่ ๓ จนทางการต้องปราบปรามขั้นรุนแรง เช่น จีนตั้วเหี่ยเมืองฉะเชิงเทรา อันเป็นผลกระทบอีกด้านหนึ่งจากสภาพเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวในสมัยนี้
น้ำตาล : สินค้าส่งออกที่สำคัญของลุ่มน้ำบางปะกง
สินค้าส่งออกที่ขึ้นชื่อสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์อย่างหนึ่งคือน้ำตาลที่ผลิตจากอ้อย เป็นสิ่งที่ชาวจีนนำเข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทย เริ่มปรากฏหลักฐานการปลูกอ้อยเพื่อทำน้ำตาลส่งออกประมาณปี พ.ศ. ๒๓๕๓ ซึ่งอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ครั้งนั้นส่งออกได้กว่า ๖,๐๐๐ หาบ (๑๙) ภายหลังการทำสนธิสัญญาเบอร์นี่ พ.ศ. ๒๓๖๙ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๓ มีการส่งออกน้ำตาลในปริมาณมากขึ้น เช่น ปี พ.ศ. ๒๓๘๗ มีปริมาณส่งออกถึง ๑๑๐,๐๐๐ หาบ (๒๐) ทั้งนี้เป็นไปตามความต้องการของตลาดโลก โดยมีลูกค้าสำคัญคืออเมริกาและอังกฤษ (๒๑)
การปลูกอ้อยเพื่อสามารถผลิตน้ำตาลส่งออกปริมาณมหาศาลเช่นนี้จำเป็นที่จะต้องใช้พื้นที่และแรงงานผลิตจำนวนมาก ทั้งนี้สอดคล้องกับรูปแบบการผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดียช่วงระยะเวลาเดียวกัน ที่กำลังเปลี่ยนไปภายหลังชาติตะวันตกเข้ามายึดครองดินแดนต่างๆ เป็นอาณานิคมของตน ซึ่งมีการใช้ประชาชนในชนบทมาเป็นแรงงานทำไร่ขนาดใหญ่ เช่นที่ ศรีลังกา แหลมมลายู และอินเดียตอนเหนือ ภายใต้การลงทุนของอังกฤษ นอกจากนี้มีการทำไร่พืชเศรษฐกิจในชวา อินเดียตะวันออก พร้อมกับมีการเพิ่มขึ้นของประชากรในเขตเมืองของประเทศอาณานิคมทั้งหลาย การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้สร้างตลาดใหม่ๆ ให้กับสินค้าข้าวและพืชอาหารอื่นๆ อีกด้วย (๒๒)
แหล่งผลิตน้ำตาลที่สำคัญอยู่ในบริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มแม่น้ำท่าจีน ซึ่งมีเมืองสำคัญคือสมุทรสาคร นครชัยศรี ในเขตลุ่มแม่น้ำท่าจีน และเมืองสมุทรสงคราม ราชบุรี ในเขตลุ่มน้ำแม่กลอง บริเวณดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร และเป็นแหล่งผลิตน้ำตาลมะพร้าวและน้ำตาลโตนดโดยชาวสยามมาแต่เดิม ขณะที่น้ำตาลจากอ้อยมีกรรมวิธีซับซ้อนกว่ามากอันเป็นความเชี่ยวชาญของชาวจีน ภาครัฐให้การส่งเสริมกิจการนี้ด้วยการส่งเจ้าหน้าที่ส่วนกลางออกตรวจตราดูแลอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งตรวจทำบัญชีจำนวนไร่อ้อยและโรงหีบเพื่อที่จะประเมินการส่งเสริมกิจการนี้ตามจำนวนที่เป็นจริงซึ่งมีหลายสิบโรงในขณะนั้น (๒๓)
ไม่เพียงเท่านั้น บริเวณลุ่มแม่น้ำบางปะกงเป็นอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งรุ่งเรืองด้วยไร่อ้อยและอุตสาหกรรมน้ำตาล โดยมีเมืองฉะเชิงเทราเป็นศูนย์กลางการผลิตน้ำตาลของพื้นที่แห่งนี้ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เมืองฉะเชิงเทรามีความสำคัญทางเศรษฐกิจจากการเป็นแหล่งผลิตน้ำตาล ข้าว ผลเร่ว ใบจาก และพืชผลอื่นๆ ส่วนการเมืองนั้น เมืองฉะเชิงเทรามีความสำคัญในฐานะเป็นเมืองหน้าด่านป้องกันชายฝั่งทะเลตะวันออกเนื่องมาจากสงครามระหว่างไทยและเวียดนาม หรือสงครามอานามสยามยุทธ ที่กินเวลาถึง ๑๔ ปี (๒๔) ทำให้มีการสร้างป้อมปราการและขุดคลองจากหัวหมากไปบางขนาก (๒๕) ที่อยู่บริเวณเมืองฉะเชิงเทราเพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงกองทัพ เมืองแห่งนี้จึงเป็นค่ายพักระหว่างทางของกองทัพไทย (๒๖)
ต่อมาจึงมีราษฎรเข้ามาอาศัยนับหมื่นคน รวมทั้งชาวจีนอพยพเข้ามาปลูกอ้อยและทำโรงน้ำตาลที่เมืองแห่งนี้มากขึ้น ขณะเดียวกันภาครัฐได้ให้ความสนใจก่อสร้างโรงงานน้ำตาลของหลวงขึ้นในบริเวณใกล้เคียงกัน โดยให้พระยาวิเศษฦาไชย เจ้าเมืองฉะเชิงเทรานำงบประมาณทางการไปจัดซื้อยอดอ้อย เพื่อป้อนไร่อ้อยของรัชกาลที่ ๓ ที่เมืองพนัสนิคม พร้อมกับจ้างแรงงานชาวจีน และตระเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ แต่ต้องขาดทุนเนื่องจากการทุจริตของข้าราชการ และการขาดประสบการณ์ทางธุรกิจ (๒๗) แตกต่างจากชาวจีนที่มีความเชี่ยวชาญการผลิตน้ำตาลทุกขั้นตอนเป็นทั้งแรงงานและผู้ประกอบการ สำหรับแรงงานชาวจีนนอกจากดูแลวัตถุดิบที่ใช้ทำน้ำตาลแล้วยังเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตน้ำตาล เช่น เครื่องหีบอ้อย (ลูกหีบ) พลั่ว จอบ เสียม กระทะ ขณะเดียวกันบุคลากรอื่นๆ ในโรงงาน อาทิ หัวหน้าคนงาน เสมียน และผู้จัดการ ต่างก็เป็นชาวจีนทั้งสิ้น (๒๘) ความสำคัญของชาวจีนในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่เมืองฉะเชิงเทรา ปรากฏจากบันทึกของสังฆราชปาลเลอกัวซ์ ได้มาเยือนเมืองแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๑ ความว่า
เมืองแปดริ้ว ที่นี่มีกำแพงเชิงเทิน อันภายในเป็นที่ตั้งจวนของเจ้าเมือง ส่วนราษฎรนั้นอยู่เรียงรายกันไปทั้งสองฝั่งฟากแม่น้ำ มีพลเมืองรวมทั้งสิ้นราว ๑๐,๐๐๐ คน ทั้งจังหวัดเป็นที่ราบใหญ่อุดมไปด้วยนาข้าว สวนผลไม้และไร่อ้อย มีโรงหีบอ้อยไม่ต่ำกว่า ๒๐ โรง ซึ่งเจ้าของเป็นคนจีน ข้าพเจ้าพักอยู่กับจีนคริสตังคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเถ้าแก่ใหญ่โรงน้ำตาล จึงอยู่ในสถานะที่พอจะพรรณนาความได้ถูกต้อง ที่ริมฝั่งแม่น้ำเราจะเห็นฟืนกองพะเนินเทินทึก ๒-๓ กอง สูงตั้ง ๑๕-๒๐ เมตร ใกล้ๆ กองฟืนนั้น มีโรงหลังคากลม มีควายสองตัวดึงกว้านลูกหีบทำด้วยไม้แข็งสองลูกให้หมุนขบกันเพื่อบดลำอ้อย น้ำอ้อยไหลลงในบ่อซีเมนต์ ด้านหลังโรงหีบก่อเป็นเตาอิฐรูปร่างคล้ายๆ กับหอคอย ชั้นบนของเตานี้มีแท่งเหล็กใหญ่ขวางอยู่ ๓ ท่อน เป็นที่ตั้งหม้อขนาดมหึมา ๓ หม้อ เชื่อมถึงกันด้วยการโบกปูน เมื่อสุมไฟแรงแล้วเคี่ยวน้ำอ้อยในหม้อเหล่านี้จนงวดแล้วเทลงเก็บไว้ในกรวยดิน วันรุ่งขึ้น เขารินน้ำตาลแดงออกแล้วฟอกด้วยดินเหนียวแฉะๆ ได้น้ำตาลซึ่งค่อนข้างขาวมาก การเคี่ยวน้ำตาลแดงกับฟองของมันอีกครั้งหนึ่ง ก็ยังได้น้ำตาลอีกเป็นจำนวนมาก ในที่สุดกากน้ำตาลแดงนั้นจะถูกส่งไปที่โรงต้มกลั่นสุรา เพื่อผสมเข้ากับปูนขาวใช้ในการโบกตึก บ่อกากน้ำตาลนั้นตั้งอยู่กลางแจ้ง เพราะฉะนั้น จิ้งจก หนูและคางคกมักจะตกลงไปตายกลายเป็นแช่อิ่มอยู่ในนั้นมากมาย โรงใหญ่ๆ สองโรง กว้างยาวตั้งโรงละ ๕๐ เมตร ยังไม่ค่อยพอที่จะบรรจุเครื่องมือเครื่องใช้ของโรงหีบได้หมดสิ้น ซ้ำยังใช้เป็นที่อยู่อาศัยของพวกคนงานตั้ง ๒๐๐ คนอีกด้วย ภายในโรงใหญ่โรงหนึ่งนี่เอง ข้าพเจ้าได้ประกอบพิธีกรรมต่อหน้าบุคคล ๒๐๐ คน ให้สมาทานรับศีลเข้ารีตใหม่ (๒๙)
บันทึกดังกล่าวนอกจากให้รายละเอียดถึงจำนวนประชากร จำนวนโรงน้ำตาล ตลอดจนขั้นตอนการผลิตแล้ว ยังกล่าวถึงจำนวนคนงานที่ใช้ผลิตน้ำตาลซึ่งมีความสำคัญมากจนเจ้าของโรงงานซึ่งเป็นจีนคริสตังได้ให้คนงานของตนทั้งหมดรับศีลเข้ารีตจากสังฆราชปาลเลอกัวซ์ นับเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ควบคุมแรงงานให้อยู่กับตนได้นานๆ อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลจึงมีส่วนทำให้เกิดการรวมตัวของคนจีนจำนวนมาก มิหนำซ้ำในกลุ่มชาติพันธุ์ชาวจีนมีธรรมเนียมช่วยเหลือกันภายในกลุ่มของตนจนสามารถสร้างอิทธิพลระหว่างกลุ่มชาวจีนด้วยกัน หรือแม้แต่กับภาครัฐซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ในเบื้องต้นจนเกิดกรณีจีนตั้วเหี่ยครั้งใหญ่ขึ้นที่เมืองฉะเชิงเทราช่วงปลายรัชกาลที่ ๓
สถานการณ์จีนตั้วเหี่ยในรัชกาลที่ ๓
ชาวจีนที่อพยพเข้าไปในต่างถิ่นมักมีการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกันในด้านต่างๆ ทั้งการประกอบอาชีพ การปกป้องภัยให้แก่กลุ่ม การช่วยเหลือสงเคราะห์กันในยามที่เกิดภัยพิบัติ ไปจนถึงการต่อต้านขุนนางท้องถิ่นและเจ้าที่ดินซึ่งกดขี่ข่มเหง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเมื่ออยู่ในประเทศจีนซึ่งมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล อำนาจของรัฐบาลกลางไปไม่ถึงราษฎรชาวจีนจึงจำเป็นต้องดูแลตนเองและพวกพ้องภายในกลุ่ม และคงลักษณะเช่นนี้ยามเมื่ออยู่ต่างแดน (๓๐)
ชาวจีนในไทยก็มีการรวมกลุ่มกันตามชาติพันธุ์และภาษาอันบ่งบอกถึงถิ่นฐานที่จากมาทั้ง จีนกวางตุ้ง แคะ ไหหลำ และแต้จิ๋ว โดยมีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือระหว่างกันในหมู่แรงงานเป็นหลัก และมักมีการตั้งหัวหน้าที่ได้รับความนับถือกันในกลุ่มเรียกว่า ตั้วเหี่ย ในภาษาแต้จิ๋ว หรือคำ ตั้วก่อ ในภาษาฮกเกี้ยน แปลว่า พี่ใหญ่ ซึ่งคำนี้ใช้กันในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก่อนจะเปลี่ยนเป็นคำ อั้งยี่ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ (๓๑)
บรรดากลุ่มตั้วเหี่ยในสมัยรัชกาลที่ ๓ มักกระจายอยู่ตามพื้นที่ซึ่งสัมพันธ์กับเศรษฐกิจเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะในเขตลุ่มแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง ไปจนถึงหัวเมืองชายทะเลตะวันออก ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเป็นแรงดึงดูดที่สำคัญ ดังนั้นจึงพบว่า ปัญหาที่เกิดจากจีนตั้วเหี่ยมักเกิดในบริเวณเหล่านี้
การที่วัตถุประสงค์หลักอยู่ที่การเน้นการช่วยเหลือกันภายในกลุ่มพวกพ้องอาจส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของภาครัฐ เนื่องจากหลายครั้งจีนตั้วเหี่ยดำเนินการไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มตนจนกระทบกระทั่งกับกลุ่มอื่นกลายเป็นการวิวาทระหว่างกันทำให้ทางการต้องปราบปราม เช่น กรณีจีนตั้วเหี่ยครั้งแรกในรัชกาลที่ ๓ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๗ ที่เมืองจันทบุรีเกิดจากการวิวาทระหว่างจีนฮกเกี้ยนและจีนแต้จิ๋ว (๓๒)
อีกหลายครั้งจีนตั้วเหี่ยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการในสิ่งที่ขัดต่อกฎหมายบ้านเมือง ดังในปี พ.ศ. ๒๓๘๕ เกิดจีนตั้วเหี่ยที่เมืองนครชัยศรีและเมืองสาครบุรี มีสมัครพรรคพวกประมาณ ๑,๐๐๐ คน เที่ยวตีชิงเรือลูกค้า และเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๘ จีนตั้วเหี่ยบริเวณหัวเมืองตะวันตกรวมตัวกันเป็นโจรสลัดตีชิงเรือลูกค้าสัญจรระหว่างเมืองปราณบุรีถึงเมืองหลังสวนจนไม่มีเรือลำใดกล้าแล่นผ่านบริเวณนี้ แต่ภายหลังทั้ง ๒ กลุ่มถูกทางการปราบปรามในที่สุด (๓๓)
ขณะเดียวกันปัญหาการค้าฝิ่นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่บรรดาจีนตั้วเหี่ยเข้าไปพัวพัน เนื่องจากเป็นที่ต้องการของแรงงานชาวจีน ทางราชการได้ปราบปรามอย่างหนักดังในปี พ.ศ. ๒๓๘๒ มีการยึดฝิ่นจากหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตกจำนวนกว่า ๓,๗๐๐ หาบ ก่อนส่งมาเผาทำลายที่หน้าพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ อีกทั้งทางการได้ปราบปรามจีนตั้วเหี่ยที่ค้าฝิ่นด้วย เช่น การปราบปรามกลุ่มชาวจีนที่ปากน้ำบางปะกงเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๗ และในปี พ.ศ. ๒๓๙๐ เกิดจีนตั้วเหี่ยที่เมืองสาครบุรี ครั้งนั้นพระยามหาเทพ (ปาน) ซึ่งเป็นแม่ทัพถูกปืนถึงอนิจกรรม ส่วนฝ่ายจีนตั้วเหี่ยถูกปราบอย่างราบคาบเสียชีวิตกว่า ๓๐๐ คน (๓๔)
จลาจลจีนตั้วเหี่ยที่เมืองฉะเชิงเทรา
ความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจสมัยรัชกาลที่ ๓ เกิดขึ้นโดยมีชาวจีนเป็นจักรกลสำคัญ แต่เวลาเดียวกันทางการต้องประสบปัญหาจากบรรดาจีนตั้วเหี่ยเกือบตลอดรัชกาล และหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญคือ การจลาจลของจีนตั้วเหี่ยที่เมืองฉะเชิงเทรา เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๑ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้มากกว่าครั้งใดๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้
ข้อมูลของเหตุการณ์นี้พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ระบุว่า อ้ายจีนเสียงทอง จีนบู๊ คบคิดกันตั้งตัวเป็นจีนตั้วเหี่ยเข้าปล้นเมืองฉะเชิงเทรา สังหารพระยาวิเศษฦาไชย เจ้าเมืองตายในที่รบ ก่อนจีนกลุ่มนี้จะถูกทางการปราบปรามในที่สุด (๓๕) โดยมิได้กล่าวถึงสาเหตุของเหตุการณ์ไว้ แต่จากวิทยานิพนธ์ของ ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุล เรื่อง สมาคมลับอั้งยี่ในประเทศไทย พ.ศ. ๒๓๖๗-๒๔๕๓ อาศัยข้อมูลเอกสารจดหมายเหตุสมัยรัชกาลที่ ๓(๓๖) ช่วยเติมเต็มลำดับเหตุการณ์จากพระราชพงศาวดารให้สมบูรณ์มากขึ้น
เหตุการณ์ดังกล่าวเริ่มจากชนวนความบาดหมางระหว่างจีนเสียงทองและแขวงจันเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๐ ครั้งนั้นอำแดงส้มจีนจัดงานศพนายเที่ยงสามี จีนสินทองเอาคณะงิ้วไปแสดงช่วยในงาน เมื่อชาวจีนในเมืองฉะเชิงเทราทราบข่าวจึงพากันไปดูงิ้ว ขณะเดินทางมาถึงหน้าบ้านแขวงจัน จะข้ามสะพานตรงไปยังวัด บริวารของแขวงจันออกมาชักไม้กระดานสะพานออกเสีย พวกคนจีนไม่ยอมจึงพากันไปหยิบไม้มาทอดสะพานข้ามอีกครั้ง แต่บริวารของแขวงจันรีบเข้ามาแย่งไม้กระดานนั้นจนเกิดการวิวาทกันขึ้น เหตุการณ์สงบลงเบื้องต้นเนื่องจากหลวงยกกระบัตรซึ่งเข้ามาช่วยงานศพได้มาไกล่เกลี่ยจนเลิกรากันไป
ต่อมานายลอย บุตรแขวงจันเข้าฟ้องร้องต่อพระยาวิเศษฦาไชย เจ้าเมืองฉะเชิงเทรา กล่าวหาจีนเสียงทองและพรรคพวก ๒ ประการ คือ จีนเสียงทองและพรรคพวก ๖๐ คน วิวาททุบตีพวกแขวงจัน อีกทั้งจีนเสียงทองและพรรคพวกเป็นตั้วเหี่ยมีสมาชิกประมาณ ๑๙๐ คน ส่วนทางฝ่ายพระยาวิเศษฦาไชย มีคำสั่งให้จับจีนเสียงทองและพรรคพวกอีก ๑๐๐ คน แต่จีนเสียงทองไม่อยู่จึงส่งหลานชายมาแทน ในบรรดาชาวจีนที่ถูกจับนั้นบางคนไม่ได้รู้เห็นกับการวิวาทเลย ปรากฏว่าพระยาวิเศษฦาไชยและกรมการกลับใช้อำนาจเรียกขู่เอาเงินจากชาวจีนที่ถูกจับมาคนละ ๕-๑๐ ตำลึง ชาวจีนที่เสียเงินให้ก็จะถูกปล่อยตัว ส่วนที่ไม่มีเงินจะเสียก็ถูกจำตรวนกักขัง จีนเสียงทองต้องเสียเงินจากคดีครั้งนี้ไปถึง ๔ ชั่ง จึงยุติคดี
จีนเสียงทองและพรรคพวกโกรธแค้นการกระทำของพระยาวิเศษฦาไชยจึงไปเกลี้ยกล่อมชาวจีนกลุ่มต่างๆ ให้เข้าร่วมต่อต้านขุนนางเหล่านี้ ดังในคำพูดกล่าวว่า กรมการข่มเหงหนักเหลือทน จะเป็นตายอย่างไรก็ตามทีเถิด เรามาคิดกันทำตั้วเหี่ยหาพวกให้มาก เล่นกับกรมการสักครั้งหนึ่ง ปรากฏว่าจีนเสียงทองสามารถชักชวนจีนทุกกลุ่มภาษาในเมืองฉะเชิงเทราทั้งจีนแต้จิ๋ว แคะ ฮกเกี้ยน และไหหลำ มาเป็นกำลังของตน หลังจากนั้นจึงเริ่มดำเนินการทันที
ตอนเช้าวันขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๕ พ.ศ. ๒๓๙๑ จีนเสียงทองให้จีนบู๊ลูกน้องคนสนิทคุมชาวจีนประมาณ ๕๔๐ คน เข้าตีโรงน้ำตาลของหลงจู๊ฮี สังหารจีนฮอซึ่งมีตำแหน่งทางราชการที่ขุนกำจัดจีนพาล และเป็นพี่ชายของหลงจู๊ฮี และตอนเย็นของวันเดียวกันจีนเสียงทองสั่งให้จีนเอียง จีนตู จีนบู๊ จีนเสง และจีนซุนเตีย เป็นหัวหน้าคุมกำลังพลจำนวน ๑,๒๐๐ คน เข้าตีเมืองฉะเชิงเทรา ในเวลานั้นพระยาวิเศษฦาไชยกับกรมการเมืองชั้นผู้ใหญ่ติดราชการที่เมืองกระบิล เหลือแต่กรมการผู้น้อยรักษาเมืองไว้แต่แพ้พวกจีนตั้วเหี่ยจึงหลบหนีทิ้งเมืองไป
เมื่อจีนตั้วเหี่ยเข้าเมืองได้แล้วก็จุดไฟเผาบ้านหลวงยกกระบัตร กรมการ และเผาบ้านเรือนราษฎรอีกหลายหลัง จากนั้นหัวหน้าจึงจัดกองลาดตระเวนทั้งสี่มุมเมือง พอวันรุ่งขึ้นจีนเสียงทองได้เข้าเยี่ยมบรรดาลูกน้องของตนพร้อมกับให้จัดกองกำลังไปป้องกันเมืองด้านนอกบริเวณบ้านบางคล้าและบ้านสนามจัน และสั่งให้จีนบู๊นำปืนใหญ่จำนวน ๓๕ กระบอก มาติดตั้งบนกำแพงเมืองอีกด้วย อีกทั้งยังส่งลูกน้องที่เหลือไปประจำการตามโรงหีบอ้อยต่างๆ นอกกำแพงเมือง ไม่เพียงเท่านั้น จีนเสียงทองยังมีแผนการที่จะหาคนมาเพิ่มขึ้นอีก จากนั้นจะไปตีเมืองชลบุรีเพื่อใช้เป็นทางหลบหนีออกท้องทะเลหากทางกรุงเทพฯ ส่งกองทัพมาปราบปราม
การบุกโจมตีเมืองครั้งนี้ราษฎรชาวไทยหลบหนีลี้ภัยไปอยู่ตามป่าเป็นอันมาก แต่มีราษฎรบางส่วนที่บ้านไทรมูลซึ่งอยู่ทางด้านใต้ของเมืองฉะเชิงเทรา นำกำลังเข้าโจมตีจีนตั้วเหี่ย สามารถเผาโรงน้ำตาลของหลงจู๊ไตและหลงจู๊ตั้วเถา จนกระทั่งพวกจีนบริเวณนี้บ้างต้องหลบหนีไปอยู่ในเมือง บางส่วนก็หลบหนีไปอยู่ทางตอนเหนือของเมือง
ทางฝ่ายรัฐบาลที่กรุงเทพฯ มีคำสั่งให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ซึ่งขณะนั้นติดราชการที่เมืองสาครบุรีดำเนินการปราบปรามโดยเร็ว เจ้าพระยาพระคลังมีคำสั่งให้พระอินทรอาสา เจ้าเมืองพนัสนิคม นำไพร่พลล่วงหน้าไปก่อนและได้ปะทะกับฝ่ายของจีนเสียงทอง และสามารถขับไล่พวกจีนเหล่านี้ได้พร้อมกับเผาโรงงานน้ำตาลบางส่วนของพวกจีนตั้วเหี่ยไปด้วย แต่ทางทัพของพระอินทรอาสาก็ถูกฝ่ายหลงจู๊อะหนึ่งในจีนตั้วเหี่ยนำกำลังเข้าโจมตีจนต้องถอยหนีไปตั้งมั่นที่โคกพนมดีที่เมืองพนัสนิคม ส่วนทางฝ่ายจีนเสียงทองได้เตรียมรับมือกองทัพของทางการด้วยการขุดสนามเพลาะในเขตเมืองฉะเชิงเทรามีความยาวประมาณ ๑๐ เส้น พร้อมทั้งตระเตรียมอาวุธเป็นอย่างดี
ต่อมากองทัพของเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ยกออกจากเมืองสาครบุรีในวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๕ มาถึงนอกเมืองฉะเชิงเทราอีก ๒ วันต่อมา และเข้าปราบปรามจีนตั้วเหี่ยจนแตกทัพกระจัดกระจาย ทำให้จีนเสียงทองหาทางผ่อนหนักเป็นเบาด้วยการซัดทอดความผิดให้จีนบู๊ว่าเป็นตัวการแต่ผู้เดียว ดังนั้นตอนเย็นของวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๕ จีนเสียงทองกับพรรคพวกจึงจับกุมจีนบู๊ที่เมืองฉะเชิงเทรา แล้วนำมากักขังที่โรงน้ำตาลของหลงจู๊โป๊ที่บ้านใหม่
วันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๕ จีนเสียงทองได้วานให้ท่านหญิงหุ่น ภรรยาพระศรีราชอากร มากราบเรียนต่อเจ้าพระยาพระคลังว่า จะนำตัวจีนบู๊ตั้วเหี่ยใหญ่มาให้ลงโทษ ภายหลังจีนเสียงทองได้นำจีนบู๊มาส่งมอบให้ตามที่กล่าวไว้ เจ้าพระยาพระคลังสั่งให้จมื่นไวยวรนาถ (ช่วง บุนนาค) คุมตัวจีนบู๊ พร้อมกับจับกุมจีนตั้วเหี่ยระดับหัวหน้าคือ จีนเสียงทอง หลงจู๊โป๊ หลงจู๊ตัด หลงจู๊ยี่ หลงจู๊ชี ลงเรือเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ส่วนเจ้าพระยาพระคลังคงอยู่ในพื้นที่เพื่อปราบปรามจีนตั้วเหี่ยที่หลบซ่อนอยู่ต่อไป ในเวลาเดียวกันเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กลับจากราชการทางเมืองเขมรได้ผ่านมายังเมืองฉะเชิงเทราเมื่อวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ จึงช่วยเจ้าพระยาพระคลังปราบพวกจีนตั้วเหี่ย ส่วนพระยาวิเศษฦาไชยซึ่งไปราชการที่เมืองกระบิล ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็รีบเดินทางมาช่วยปราบจลาจล และถูกพวกจีนตั้วเหี่ยสังหารระหว่างการสู้รบที่บางคล้า
ฝ่ายจีนตั้วเหี่ยเมื่อสูญเสียแกนนำแล้วก็พากันหลบหนีออกจากเมืองฉะเชิงเทราในวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๕ กองทัพไทยได้เข้าโจมตีและสามารถจับกุมหัวหน้าระดับรองได้หลายคน เช่น จีนห้วยเสียว จีนเน่า จีนเสง จีนตู จีนเกา จีนกีเฉาเอย จีนโผ จีนหลงจู๊อะ จีนกีเถ้าแก่สวนอ้อย และจีนลก เป็นต้น ฝ่ายราษฎรชาวไทยที่หลบหนีอยู่ตามป่าได้ออกมาช่วยต่อสู้กับพวกจีนตั้วเหี่ยและสังหารพวกจีนเหล่านี้เป็นอันมาก รวมทั้งเจ้าเมืองที่อยู่ใกล้เคียงคือ เมืองพนัสนิคมและเมืองชลบุรี ได้เข้าช่วยปราบปรามระหว่างที่พวกจีนตั้วเหี่ยหลบหนี ประมาณกันว่ามีชาวจีนเสียชีวิตกว่า ๓,๐๐๐ คน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น